เที่ยวล่องเรือสำราญ

                 การท่องเที่ยวนอกจากจะเป็นการพักผ่อนที่ดีต่อร่างกายและจิตใจแล้ว ยังเป็นการสะสมประสบการณ์สำคัญของแต่ละช่วงชีวิต บางคนอาจได้ลองเดินทางมาแล้วหลากหลายรูปแบบ แต่ยังมีอีกหนึ่งรูปแบบการเดินทางที่น้อยคนจะได้รู้จัก การท่องเที่ยวบนเรือสำราญ โดยเฉพาะสำหรับประเทศไทย ที่ถือว่าเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวที่คนไทยยังไม่คุ้นเคยนัก ทั้งที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีพื้นที่ติดกับทะเล และมีศักยภาพในด้านการท่องเที่ยว

                 ในมุมมองของการท่องเที่ยวในระดับโลก การล่องเรือสำราญเป็นรูปแบบหนึ่งที่ได้รับความนิยมสูงมาก ข้อมูลจากสมาคมการเดินเรือสำราญใหญ่ที่สุดของโลก ระบุว่า ในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมามีจำนวน นักท่องเที่ยวที่สูงขึ้นจาก 17.8 ล้านคนในปี 2552 เป็น 23 ล้านคน ในปี 2558 เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.4% และคาดว่าภายใน 5 ปีข้างหน้า ธุรกิจเรือสำราญจะขยายตัวจากการสร้างเรือใหม่ของสมาชิกเพิ่มขึ้นอีก 55 ลำ เกิดการจ้างงาน 1 ล้านคน

                 ปัจจุบันทั่วโลกมีเรือสำราญรวมกว่า 5,000 ลำ และแต่ละลำมีความต้องการเดินทางทางเรือเข้ามาในอาเซียน หากสามารถปรับแก้กฎหมายได้คาดว่าจะช่วยผลักดันให้ในอาเซียนมีเรือสำราญเดินทางมาไม่ต่ำกว่า 500 ลำ/ปี สร้างเงินสะพัดไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท สำหรับกฎหมายเรือยอชต์ของประเทศไทย มีข้อที่ต้องปรับปรุงแก้ไข เช่น การจัดเก็บภาษีเรือซุปเปอร์ยอชต์ที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันกระทรวงการคลังเรียกเก็บภาษีในอัตราค่อนข้างสูงและต้องมีการจ่ายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากกว่า 1 หน่วยงาน

                 ขณะที่ประเทศไทยมีศักยภาพและความพร้อม แต่อาจจะต้องอาศัยเวลาและการผลักดันโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประเทศไทยเป็นจุดแวะพักที่ได้รับความนิยมมาก ข้อมูลจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองพบว่า ในแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวที่เดินทางด้วยเรือสำราญมายังประเทศไทยในลักษณะของ Port of Call หรือท่าเรือแวะพักในทุกท่าเรือ ประมาณ 450,000 คน

                 โดยส่วนใหญ่ถ้ามาจากฝั่งอันดามันจะแวะเทียบท่าที่ภูเก็ต แต่ถ้ามาจากฝั่งอ่าวไทยจะแวะเทียบท่าเรือที่เกาะสมุย  หรือถ้าจะมาภาคกลางจะแวะที่ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี เป็นต้น นอกจาก Port of Call แล้ว ตอนนี้เรามีเรือสำราญที่เข้ามาในลักษณะ Turn-around port คือเป็นจุดเริ่มต้นและจุดสุดท้ายของทริประยะสั้น

                 แม้วันนี้ไทยจะเป็นเพียงท่าเรือแวะพัก แต่ในอนาคตหลายฝ่ายเชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะพัฒนาสู่การเป็น Homeport หรือท่าเรือหลักได้ การเป็นท่าเรือหลักเรายังติดปัจจัยหลายอย่าง เช่น การตรวจคนเข้าเมืองและด่านศุลกากร แต่มีโอกาสที่จะพัฒนาตรงนี้ได้ เนื่องจากเรามีท่าเรือที่มีศักยภาพพร้อมอยู่แล้วคือที่แหลมฉบัง  นอกจากนี้ยังมีท่าเรืออีกหลายแห่ง เช่น ท่าเรือที่ภูเก็ต ที่มีความพร้อมและศักยภาพจะพัฒนาเป็นท่าเรือหลักได้ และถ้ามีการสนับสนุนและมีความต่อเนื่องของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

                  เชื่อว่าใน 2-5 ปีจากนี้การท่องเที่ยวทางเรือสำราญจะเติบโตและเป็นที่นิยมในเมืองไทย ซึ่งวันนี้โอกาสสำหรับธุรกิจการท่องเที่ยวทางเรือในประเทศไทย เห็นภาพได้ชัดขึ้น เมื่อ คอสตา ครุยส์ ผู้ให้บริการท่องเที่ยวสัญชาติอิตาลีขยายการเดินเรือสำราญคอสตา วิกตอเรีย เข้ามายังอ่าวไทยด้วย

                 งานไทยเที่ยวนอก เห็นความสำคัญของการท่องเที่ยวล่องเรือสำราญ เชิญชวนผู้ประกอบการท่องเที่ยวกลุ่มบริษัททัวร์ล่องเรือสำราญมาออกบูธ ซึ่งหลายครั้งที่ผ่านมาได้รับการตอบรับด้วยดี มีผู้สนใจซื้อแพ็คเกจทัวร์ล่องเรือสำราญเป็นจำนวนมาก จึงมั่นใจอนาคตว่าการท่องเที่ยวบนเรือสำราญจะเติบโตด้วยดี จะกลายโปรไฟล์ใหม่ด้านการท่องเที่ยวต่างประเทศที่มีกลุ่มคนไทยกำลังซื้อสูงเป็นลูกค้าหลัก