8 เทคโนโลยีโดนใจสายอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

           การท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในภาคเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดในโลก และยังเป็นเสาหลักของเป้าหมายการพัฒนาที่ยังยืน (The Sustainable Development Goals; SDGs) ซึ่งการเติบโตอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวในช่วง ประมาณ 60 ปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงการเข้าถึงการท่องเที่ยวที่ก้าวหน้ามากขึ้น อันเนื่องมาจากต้นทุนการขนส่งที่ลดลงและการเติบโตของชนชั้นกลางทั่วโลก

          ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะเป็นอุตสาหกรรมที่มีการนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องค่อนข้างช้ากว่าอุตสาหกรรมอื่น แต่จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปทั่วโลก ทำให้เกิดการผลักดันระบบบดิจิทัลในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้เดินหน้าไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันที่ตอบโจทย์ประสบการณ์รูปแบบใหม่และความคาดหวังที่เปลี่ยนไปของกลุ่มลูกค้า โดยอาศัยเทคโนโลยีที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นการค้นหาด้วยเสียง เทคโนโลยีโลกเสมือน (Virtual Reality; VR และ Augmented Reality; AR) เทคโนโลยีการจดจำใบหน้า และอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things; IoTs) ฯลฯ ที่ได้นำไปสู่การปรับใช้ลำโพงอัจฉริยะในโรงแรม ทัวร์เสมือนจริงจากบริษัทท่องเที่ยว การเช็คอินแบบใหม่ที่ไร้รอยต่อโดยไม่ต้องต่อคิวและพูดคุยกับพนักงานต้อนรับ การชำระเงินแบบไม่ต้องสัมผัส เป็นต้น

         บริษัท พี.เค. เอ็กซิบิชั่น แมนเนจเม้นท์ จำกัด และ บริษัท พี.เค. ดิจิทัล คอนเนคท์ จำกัด ผู้นำธุรกิจจัดงานแสดงสินค้าด้านการท่องเที่ยว มองเห็นภาพการตลาดท่องเที่ยวยุคใหม่ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยี และปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามามีบทบาทต่อธุรกิจท่องเที่ยวในอนาคต  

           8 เทคโนโลยีโดนใจสายอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
           1. การค้นหาด้วยเสียงและการควบคุมด้วยเสียง (Voice Search & Voice Control)
           ปัจจุบันนักท่องเที่ยวมีการค้นหา จองตั๋วเครื่องบิน และห้องพักในโรงแรมด้วยการใช้เสียงเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ การควบคุมด้วยเสียงยังช่วยเปิดประสบการณ์ใหม่ให้กับการเดินทางจริงอีกด้วย ภายในห้องพักของโรงแรมสามารถใช้อุปกรณ์ควบคุมด้วยเสียงเพื่อควบคุมแสงและความร้อนภายในห้องพัก หรือเพื่อรับข้อมูลการท่องเที่ยว โดยไม่ต้องพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะขยายไปสู่ด้านอื่นของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวต่อไป
           2. หุ่นยนต์ (Robots)
          เทคโนโลยีหุ่นยนต์เป็นเทคโนโลยีการท่องเที่ยวรูปแบบหนึ่งที่น่าตื่นเต้นสำหรับนักท่องเที่ยว และมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เช่น โรงแรมมีการใช้หุ่นยนต์ในบทบาทเสมือนเป็นเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวก เพื่อต้อนรับแขกและสามารถให้ข้อมูลได้ หรือใช้ในการทำความสะอาดและการจัดการสัมภาระ ร้านอาหารบางแห่งนำหุ่นยนต์เข้ามาช่วยเตรียมอาหารและการบริการเสิร์ฟอาหาร หรือในสนามบิน สามารถใช้เพื่อตรวจจับอาวุธที่ซ่อนอยู่ เป็นต้น นอกจากนี้ สถานที่ท่องเที่ยวยังใช้หุ่นยนต์ในการคัดกรองล่วงหน้า ทำให้สามารถจัดสรรจำนวนคนและเวลาการรอคอยของนักท่องเที่ยวให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ถูกจำกดัด้วยมาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคม และลดการติดต่อสัมผัสระหว่างแต่ละบุคคล
          3. การชำระเงินแบบไร้สัมผัส (Contactless Payments)
          เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้ให้บริการด้านท่องเที่ยวสามารถดำเนินการชำระเงินได้รวดเร็วยิ่งขึ้น รวมถึงในสถานการณ์ที่นักท่องเที่ยวไม่มีเงินสดติดตัว นอกจากนี้ ยังสามารถปรับเปลี่ยนประสบการณ์ใหม่ของลูกค้า เนื่องจากเป็นการประหยัดเวลา เทคโนโลยีนี้กลายเป็นส่วนสำคัญของการตลาดด้านการท่องเที่ยวหลังจากเกิดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เนื่องจากนักท่องเที่ยวมีความกังวลเกี่ยวกับการแพร่กระจายของไวรัส ทำให้หลายคนไม่เต็มใจที่จะรับเงินสด ซึ่งการชำระเงินแบบไม่ต้องสัมผัสนั้นสามารถช่วยปกป้องการแพร่ระบาดของโรคสู่กลุ่มผู้ประกอบการและพนักงานได้อีกทางหนึ่งด้วย
          4. Virtual Reality (VR)

             เป็นเทคโนโลยีที่มีบทบาทสำคัญเป็นพิเศษในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้นักเดินทางได้มีโอกาสสัมผัสสถานที่ท่องเที่ยวที่ห่างไกลจากบ้านของตนเองอย่างสะดวกสบาย การใช้เทคโนโลยี VR จะช่วยให้นักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสประสบการณ์ทุกอย่าง ตั้งแต่การทัวร์โรงแรมและร้านอาหารเสมือนจริง ไปจนถึงสถานที่สำคัญต่าง ๆ เช่น อุทยานแห่งชาติ ซึ่งในขณะนี้ทัวร์ VR หรือทัวร์ 360 องศาส่วนใหญ่สามารถเข้าไปท่องเที่ยวกันได้บนโลกอินเตอร์เน็ต
             5. AI Chatbots
            แชทบอทที่ควบคุมด้วย AI เป็นหนึ่งในการลงทุนด้านเทคโนโลยีการท่องเที่ยวที่สมเหตุสมผลที่สุดที่ผู้ประกอบการสามารถทำได้ เนื่องจากแชทบอทเหล่านี้สามารถให้คำตอบแก่ลูกค้าได้อย่างรวดเร็วตลอด 24 ชั่วโมงในทุกวัน ตอบโจทย์ตามความคาดหวังเกี่ยวกับการให้บริการลูกค้าในปัจจุบัน โดยทั่วไปแชทบอทเหล่านี้จะทำงานได้ดีที่สุดเมื่อตอบคำถามทั่วไป ซึ่งจะมีคำตอบมาตรฐานตามที่กำหนดไว้แล้ว แต่ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี AI นี้ ทำให้แชทบอทสมัยใหม่มีการปรับปรุงและเรียนรู้อย่างต่อเนื่องจากการสนทนาโต้ตอบกันมากขึ้น
             6. Internet of Things (IoTs)
            เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตระหว่างอุปกรณ์ในชีวิตประจำวัน ทำให้อุปกรณ์ทั้งสองส่งและรับข้อมูลได้ เช่น เทคโนโลยี IoTs สามารถใช้ในห้องพักของโรงแรม เพื่อให้ลูกค้ามีอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับทุกอย่างตั้งแต่ระบบไฟไปจนถึงเครื่องทำความร้อนหรือเครื่องปรับอากาศ ทำให้สามารถควบคุมทั้งหมดได้จากที่เดียว ซึ่งมีการใช้กันอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้น
             7. Recognition Technology
            เทคโนโลยีนี้จะหมายรวมถึงการจดจำลายนิ้วมือ การจดจำใบหน้า การสแกนจอประสาทตา (retina) และการระบุตัวตนอื่น (biometric) ของนักท่องเที่ยวที่เข้ามาใช้บริการ ซึ่งเทคโนโลยีนี้ถูกนำมาใช้ในโรงแรมบางแห่งเพื่ออนุญาตให้เข้าถึงห้องพักผ่านลายนิ้วมือ หรือเพื่ออนุญาตให้เช็คเอาท์แบบกึ่งไร้สัมผัส นอกจากนี้ ยังมีบางสายการบินได้นำเทคโนโลยีนี้มาใช้ในการตรวจสอบผู้โดยสารก่อนออกเดินทางเช่นกัน
             8. Augmented Reality (AR)
             สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งของเทคโนโลยีนี้คือราคาถูกกว่า VR โดยที่ผู้ใช้ต้องการเพียงอุปกรณ์ที่เป็นสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ตที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ ซึ่งผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสามารถเปลี่ยนประสบการณ์ใหม่ของลูกค้าได้อย่างมาก ด้วยการให้ข้อมูลที่มีคุณค่าแก่ลูกค้า หรือแม้แต่ความบันเทิง เช่น แอปพลิเคชันที่อนุญาตให้แต่งรูปภาพผ่านฟิลเตอร์และเอฟเฟกต์ หรือแอปพลิเคชันที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับจุดหมายปลายทางในแต่ละท้องถิ่นที่แสดงข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่นักท่องเที่ยวจะได้ถ่ายภาพหรือรับชมผ่านกล้องของสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต

               งานไทยเที่ยวไทย เปิดโซนสินค้า Platform & Travel Technology ขึ้นมา หวังประชาสัมพันธ์เทคโนโลยีที่จะมาช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยให้เติบโตขึ้นในอนาคตอันใกล้ ผู้ประกอบการที่สนใจร่วมแสดงสินค้าภายในงาน ติดต่อผู้จัดงาน โทร. 02 307 8555

ขอบคุณข้อมูลจากบทความโดย
รัฐพล วงศาโรจน์ (ปอนด์)
นักส่งเสริมนวัตกรรม ฝ่ายพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรม
ข้อมูลอ้างอิง https://www.nia.or.th