เปิดมาตรการลดหย่อนภาษี การท่องเที่ยวในช่วง 1 พฤษภาคม-30 พฤศจิกายน ธุรกิจ-นักท่องเที่ยว ประชุมสัมมนา ใครได้ลดหย่อนเท่าไร

               วันที่ 4 มิถุนายน 2567 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติมาตรการลดหย่อนภาษี 2567 เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในเมืองรองและจังหวัดท่องเที่ยว ในช่วง Low Season ระหว่างเดือนพฤษภาคม-พฤศจิกายน 2567 โดยอัดฉีดมาตรการภาษีกระตุ้นท่องเที่ยวเมืองรอง ทั้งสำหรับบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล ค่าบริการท่องเที่ยว ค่าที่พักในเมืองรอง สามารถหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้ไม่เกิน 15,000 บาท

        มาตรการลดหย่อนภาษีนิติบุคคล 2567

        นิติบุคคลที่ทำธุรกิจท่องเที่ยว นำรายจ่ายมาหักลดหย่อนภาษี รายการดังนี้

        – ค่าห้องพัก

        – ค่าห้องสัมมนา

        – ค่าขนส่ง หรือรายจ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องในการอบรมสัมมนาภายในประเทศที่จัดขึ้นให้แก่ลูกจ้าง

        – ค่าบริการของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวเพื่อการอบรมสัมมนา

         – มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม-30 พฤศจิกายน 2567 หักเป็นรายจ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล

         – หักรายจ่ายได้ 2 เท่า สำหรับการอบรมสัมมนาที่จัดในจังหวัดท่องเที่ยวเมืองรอง

          – หักรายจ่ายได้ 2 เท่า ในพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นใดที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

       กรณีการสัมมนาที่จัดในท้องที่อื่นนอกจากพื้นที่เมืองรอง และพื้นที่ที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด หักภาษี ได้ดังนี้

          – หักรายจ่ายได้ 1.5 เท่า สำหรับการอบรมสัมมนาที่จัดในท้องที่อื่น

          – ในกรณีที่การสัมมนาเกิดขึ้นในท้องที่อื่น นอกจากเมืองรองและท้องที่ตามที่กรมสรรพากรกำหนด ต่อเนื่องกัน ให้หักรายจ่ายที่สามารถแยกได้ว่าเกิดขึ้นในท้องที่ใด และถ้าแยกไม่ได้ให้หัก 1.5 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง

         ทั้งนี้ มาตรการลดหย่อนภาษีนิติบุคคล 2567 ต้องมีใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice & e-Receipt)

         สำหรับพื้นที่ท่องเที่ยวเมืองรอง 55 จังหวัด ลดหย่อนภาษีนิติบุคคล 2567  มีดังนี้

         1.เมืองรองภาคเหนือ 16 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พิษณุโลก ตาก เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สุโขทัย ลำพูน อุตรดิตถ์ ลำปาง แม่ฮ่องสอน พิจิตร แพร่ น่าน กำแพงเพชร อุทัยธานี พะเยา

         2.เมืองภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 18 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี อุบลราชธานี หนองคาย เลย มุกดาหาร บุรีรัมย์ ชัยภูมิ ศรีสะเกษ สุรินทร์ สกลนคร นครพนม ร้อยเอ็ด มหาสารคาม บึงกาฬ กาฬสินธุ์ ยโสธร หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ

         3.เมืองรองภาคกลาง-ตะวันออก-ตะวันตก 12 จังหวัด ได้แก่ ลพบุรี สุพรรณบุรี นครนายก สระแก้ว ตราด จันทบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม ปราจีนบุรี ชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี

         4.เมืองรองภาคใต้ 9 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช พัทลุง ตรัง สตูล ชุมพร ระนอง นราธิวาส ยะลา ปัตตานี

ที่มาข่าว : https://www.prachachat.net/breaking-news/news-1578861